หากเทียบเศรษฐกิจในปีนี้ก็คงต้องบอกว่าค่อนข้างเริ่มวิกฤตแล้วก็ว่าได้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างไว้มากทั้งขึ้นสุด-ลงสุดจนบางครั้งตั้งตัวกันไม่ทันเลย หลังจากช่วงโควิดที่ซบเซาผ่านไป ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองเข้ามาอีก และถูกสมทบด้วยภัยธรรมชาติกระหน่ำซ้ำ
จริงๆ แล้วผลกระทบที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้กระทบโดยตรงแบบรวดเร็วกับผู้คนตัวเล็ก แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจพวกนี้ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ค่อยๆ ล้มทับกันมาเรื่อยๆ จากรายแรกสู่รายถัดๆ ไป โดมิโน่ใครใหญ่ก็ถืออว่ายังพอยืนหยัดได้ แต่ถ้าถูกโหมกระหน่ำไปนานๆ ก็อาจล้มได้เช่นกัน ขนาดรายใหญ่ยังไม่เหลือแล้วจะสู้อะไรกับโดมิโน่ตัวเล็กๆ
ทั้งข่าว ทั้งการเมือง ทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่บางสิ่งอาจจะดูเหมือนเรื่องไกลตัว เพราะเราไม่ได้อยู่ส่วนนั้น แต่เมื่อเป็นเศรษฐกิจแล้วก็ไม่อาจหนี้พ้นได้ เพราะเรายังคงเลี้ยงชีพและดำรงอยู่บนโลกนี้ด้วยการมีเงินทั้งนั้น การเงินมาจากเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจพัง การรองรับในเรื่องนี้ การใช้ชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการอยู่รอด บางคนที่วางแผนมาแล้วอาจไม่ได้กระทบอะไร แต่สำหรับบางคนที่ไม่ได้เตรียมตัวก็มีการเกิดผลกระทบขึ้น
การลงทุน หุ้น การเมืองในข่าวหลายๆ สำนักทุกวันนี้ และความที่โลกกลายเป็นออนไลน์จับต้องได้ง่ายแล้วนั้น บอกเลยว่าสิ่งพวกนี้ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจของคนทั้งสิ้น (และเป็นการตัดสินใจของรายใหญ่ซะส่วนมากที่ส่งผลกระทบต่อระบบ) ถ้าให้ยกเคสที่เข้าใจง่ายคงเป็นเคสของ "ราคาทองคำ" ที่พุ่งขึ้นรวดเร็วอย่างน่าใจหายในเวลาไม่กี่วันจนหลายๆ คนตกใจและตื่นตูมตามๆ กัน เราอาจมองว่าก็เราไม่ได้เป็นคนซื้อทองอยู่แล้ว "เราใช้ชีวิตเรื่อยๆ ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเมืองใหญ่ทำไมต้องกลัว" แต่หารู้ไม่ว่าทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงอย่างเสียสมดุลพวกนี้กำลังค่อยๆ บ่อนทำลายระบบและโลกใบนี้ทั้งนั้น สุดท้ายแล้วในอนาคตจะมีใครยืนหยัดอยู่ได้ ถึงบอกว่าโลกนี้ไม่มีชนชั้น แต่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าในสังคมมันยังคงอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง คนที่ไม่มี "ฟูก" รองรับคงเจ็บตัวอยู่มากเช่นกันเมื่อเจอวิกฤต แต่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่ในระบบสังคมเหมือนกันย่อมส่งผลกระทบกับทุกคน
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ทำให้นึกสงสัยว่าช่วงที่ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดในครั้งประวัติศาสตร์ พวกเขา "ผ่านพ้น" มาได้อย่างไร จากการเสียสมดุลครั้งนั้น ทำให้มันค่อยๆ เริ่มกลับมาสมดุลอีกครั้งได้อย่างไร วันนี้เราจะพามาตามหาบทเรียนผ่านอดีต เพื่อนำมาทบทวนความคิดกันอีกครั้ง
วิกฤตเศรษฐกิจไทยช่วงตกต่ำที่สุด
1. วิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540)
เหตุการณ์ : ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หลังจากถูกโจมตีค่าเงินอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนเริ่มเทขายเงินบาทจนค่าเงินพังทลาย บริษัทที่กู้เงินสกุลต่างประเทศเจอปัญหาทันทีเมื่อเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว ฟองสบู่อสังหาฯแตก ธนาคารพาณิชย์เจอหนี้เสียมหาศาล
ผลกระทบ : ค่าเงินบาทอ่อนตัวจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ไปเกิน 50 บาทในไม่กี่เดือน , ระบบธ.พาณิชย์ล้มหลายแห่ง , เศรษฐกิจหดตัวประมาณ -10.5% ในปี 2541 , ธุรกิจขนาดกลางและเล็กล้มละลายจำนวนมาก , คนตกงานนับล้านคน
เมื่อเปรียบเทียบเป็นตารางง่ายๆ
เรามาดู
"สัญญาณเตือน" ก่อนที่ฟองสบู่เศรษฐกิจไทยจะแตกกันดีกว่าว่ามีสัญญาณอะไรบ้าง
1. การขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็ว
เงินกู้ในระบบพุ่งสูงมาก โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ , ธ.ปล่อยกู้แบบหลวมๆ โดยไม่พิจารณาความสามารถในการชำระคืน
*สัญญาณเตือน : ธุรกิจหลายแห่งสร้างโครงการใหม่โดยหวังว่าราคาจะขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าความต้องการจริง
2. ราคาสินทรัพย์ (อสังหาฯ, หุ้น) พุ่งเกินปัจจัยพื้นฐาน
ตลาดหุ้นไทยแตะระดับสูงสุด 1700 จุด ในปี 2537 , โครงการคอนโด และตึกสำนักงานใหม่ผุดขึ้นเต็มกรุงเทพฯ แม้ยังไม่มีผู้ซื้อจริง
*สัญญาณเตือน : เกิดภาวะ "เก็งกำไร" มากกว่าการลงทุนเพื่อใช้งานจริง , ราคาสินทรัพย์ไปไกลกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น
3. หนี้ต่างประเทศสะสม (โดยเฉพาะหนี้ภาคเอกชน)
บริษัทไทยนิยมกู้เงินดอลลาร์เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าในประเทศ แต่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน(hedge) เพราะคิดว่าบาทจะคงที่
*สัญญาณเตือน : หนี้ต่างประเทศของไทยพุ่งเกิน 100,000 ล้านดอลลาร์ เสี่ยงสูงมากหากเงินบาทอ่อนตัว
4. ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบต่อเนื่อง
ไทยนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกหลายปีติดกัน หมายถึถงประเทศต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหมุนเศรษฐกิจ
*สัญญาณเตือน : ความเปราะบางของเศรษฐกิจเริ่มชัดขึ้น แต่คนยังมองโลกในแง่ดี
5. นักลงทุนต่างชาติเริ่มถอนเงิน
มีสัญญาณเงินทุนไหลออกกดดันค่าเงินบาท ธปท.ต้องใช้เงินทุนสำรองมหาศาลเพื่อป้องกันการโจมตีค่าเงิน
6. ธนาคารและสถาบันทางการเงินเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เริ่มขาดทุน จากโครงการอสังหาฯที่ขายไม่ออก
2. วิกฤตการเงินโลก (ปี 2551)
เหตุการณ์ : เริ่มจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐฯ ลุกลามเป็นวิกฤตการเงินโลก
ผลกระทบ : การส่งออกของไทยชะลอตัวหนัก เพราะเศรษฐกิจโลกหดตัว , GDP ไทยในปี 2552 หดตัวประมาณ -0.7% , นักลงทุนถอนเงินออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย , ภาคการท่องเที่ยวซบเซา
3. วิกฤตโควิด-19 (ปี 2563-2565)
เหตุการณ์ : การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมถึงไทย
ผลกระทบ : GDP ปี 2563 หดตัวถึง -6.2% , การท่องเที่ยวหยุดชะงัก รายได้หลักของประเทศหาย , ว่างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการ , หนี้ภาครัฐเพิ่มสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฃ
นอกจากนี้ยังมี ปี 2516-2519 : วิกฤตการเมือง + ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง (oil shock)
ปี 2535-2536 : ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อการลงทุน
แต่เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจแย่ดังๆ คงหนีไม่พ้นฟองสบู่แตกแน่นอน จากที่พูดถึงเหตุการณืและสัญญาณเตือนในช่วงนั้นแล้ว เรามาดูช่วงหลังฟองสบู่แตกกันบ้าง ว่าในปีแห่งความเจ็บปวดเกิดอะไรขึ้น
ปลายปี 2540 - ธุรกิจล้มเป็นแถบ โดยเฉพาะอสังหาฯและบริษัทที่มีหนี้สกุลต่างประเทศ , คนตกงานนับล้าน , SME ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก , GDP ไตรมาส 4 หดตัวรุนแรง
ปี 2541 - ปีที่เศรษฐกิจไทยติดลบหนักที่สุด GDP ติดลบ -10.5% (ต่ำสุดในประวัติศาสตร์) , ดอกเบี้ยสูง คนไม่กล้าลงทุน ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า (เฉลี่ยประมาณ 40-45 บาท/ดอลลาร์)
ปี 2542 - เริ่มเห็นสัญญาณฟิ้นตัวอย่างช้าๆ การส่งออกเริ่มกลับมา , เงินทุนไหลกลับบางส่วน ภาคอสังหาฯยังไม่ฟื้น แต่ธุรกิจอื่นเริ่มหายใจได้
เมื่อสรุปแบบภาพรวมเป็นตารางให้เข้าใจง่าย
และเมื่อสรุปเป็นกราฟเพื่อให้มองเห็นจุดต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แล้วสรุปว่าไทยกลับมาฟื้นฟูได้อย่างไร?
แล้วชีวิตจริงของคนไทยช่วงหลังฟองสบู่แตก (2541-2545) เป็นอย่างไร เรามาดูเป็นภาคๆ เลยดีกว่า เพราะเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ฟิ้นแบบ "ตู้ม" แต่มันจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ เหมือนคนล้มแล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืนใหม่
1. คนทำงาน/มนุษย์เงินเดือน "ต้องรอดก่อนค่อยว่ากัน" - คนตกงานเพียบ , เงินเดือนถูกลด แต่ทำงานเท่าเดิม , คนเก่งๆ ต้องปรับตัว จากที่เป็นผู้จัดการ ต้องมาขับแท็กซี่ หรือขายของ , ไม่มีใครกล้าลาออก เพราะหางานใหม่ยาก บริษัทที่ประกาศรับคน แต่ไม่รับจริง
2. ธุรกิจ/SME "ขายไม่ได้ แต่ยังต้องสู้" - ร้านค้าเล็กๆ ต้องลดขนาด ลดพนักงาน , โครงการอสังหาฯ ไม่มีคนซื้อกลายเป็น "ตึกผี" เยอะมากในกรุงเทพฯ , บางคนเปลี่ยนธุรกิจใหญ่ หันไปทำของกินขายของชุมชนแทน อย่าง OTOP ที่เริ่มเห็นก็ตอนนี้
3. ชาวบ้าน/เกษตรกร "กลับบ้านดีกว่า" - คนตกงานย้ายกลับภูมิเลานำ บางคนเริ่มทำเกษตรพอเพียงเลี้ยงเป็ดไก่ ขายของตลาดนัด บางชุมชนพึ่งพากันเอง (เศรษฐกิจชุมชนเริ่มเห็นชัดเจน)
4. นักเรียน/นักศึกษา "เรียนจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร" - เรียนจบตกงานเพียบ โดยเฉพาะสายบริหาร บัญชี การเงิน ซึ่งเป็นสาย "ฮิต" ในสมัยก่อน หลายคนเรียนต่อเพื่อเลี่ยงการตกงาน บางคนเริ่มสนใจทำของขาย / ธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น (ยุคต้นๆ ของคนรุ่นใหม่เริ่มอยากเป็นเจ้าของกิจการ)
5.บรรยากาศในสังคม - คนระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขอเก็บเงินก่อนเผื่ออนาคต , เริ่มพูดถึงความพอเพียง แนวคิดนี้เริ่มมีบทบาทมากขึ้น , ความรู้ทางการเงินเริ่มถูกพูดถึง เช่น การออม การลดหนี้ การไม่ใช้จ่ายเกินตัว
แต่ถึงแม้จะเจ็บแต่คนไทยก็ปรับตัวได้เร็วมาก
คนรุ่นใหม่ตอนนั้นเริ่ม "ยืดหยุ่น + หาทางรอด" มีการเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ มากขึ้น เกิดวลีฮิตอย่าง "สู้แล้วรวย" "พอเพียงแต่ไม่จน" "ทำอะไรทำเลย อย่ารอเวลา"
หากจะให้ส่งท้ายกับบทความนี้ทุกคนที่ได้อ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบคงได้รู้ถึงเหตุการณ์และการปรับตัวของคนในยุคนั้นแล้วว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นมีขึ้นสุดย่อมมีลงสุด มีลงสุดก็ต้องมีขึ้นได้เช่นกัน ค่อยเป็นค่อยไปคือสิ่งที่ยั่งยืนเสมอ จากนี้คงต้องค่อยๆ ปรับตัวและวางแผนของแต่ละคนให้เป็นอย่างดี อย่าวิตกจนเกินเหตุ ค่อยๆ คลายปมแต่ละปัญหาของตนเอง อย่าทำอะไรจนเกินตัวและใช้วิจารณญาณในการรับความคิดจากสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาให้ดีด้วยเช่นกัน เพราะคำพูดต่างๆ หรือข่าวต่างๆ ต่างมีแนวโน้มจูงใจหรือสร้างให้เกิดอะไรสักอย่างอยู่แล้ว
ระบบสังคมสร้างเงินสร้างงานให้เราก็จริง แต่อย่าลืมว่าเรายังอยู่บนโลกที่ธรรมชาติต่างหากที่ให้ทุกอย่างกับเราอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่มันอาจจะสิ้นสุดลงได้หากโดนบ่อนทำลายลงเรื่อยๆ จากน้ำมือมนุษย์ เรานำธรรมชาติมาสร้างให้เกิดประโยชน์มากมายต่อสังคม แต่เราไม่เคยกลับมามองดูและรักษาธรรมชาติกันไว้เลย สนใจแต่ผลประโยชน์ที่มันจะทำให้เราได้มีสังคมยืนอยู่ สุดท้ายหากจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดลง จะมีจุดต่อไปได้อย่างไร อยากให้เกิดจุดจบแบบไหน เชื่อว่าหากทุกคนกลับมาคำนึงถึงธรรมชาติเป็นหลักทุกคนคงจะเห็นจุดจบหรือจุดต่อไปของโลกนี้ได้อย่างแน่นอน แม้ว่าเราจะเป็นคนตัว "เล็กๆ" ที่อาจจะมีอิทธิพลไม่เทียบเท่าคน "ตัวใหญ่" แต่จงคำนึงไว้อย่างนึงว่า คุณก็คือคนส่วนหนึ่งที่เป็นคนสร้างคน "ตัวใหญ่" ขึ้นมา คนบนโลกมีอิทธิพลต่อโลกทุกคนหากทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน ธรรมชาติไม่สนว่าใครจะใหญ่หรือเล็ก หากมันต้องการเอาคืนเพื่อปรับสมดุลของตัวมันเองก็ไม่มีใครโทษมันได้ สิ่งที่ควรทบทวนจริงๆ คืออะไร เราอยู่ที่ไหน เราใช้อะไร สิ่งที่ทำให้เรามีร่างกายที่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้คืออะไร สิ่งต่างๆ ล้วนมีที่มาจากธรรมชาติทั้งนั้น แล้วเหตุใดทำไมไม่ลองกลับมาใช้ชีวิตกับธรรมชาติดูอีกครั้งกันบ้าง รักตัวเองก็อย่าลืมรักโลกที่ตัวเองอยู่ด้วยล่ะ
______________________________
ติดตามการเล่าในเรื่องที่เราอยากรู้กับช่วง "อยากเล่า" ได้ทุกช่องทางด้านล่าง
Website : www.b-logfe.com
Facebook : B-logfé
Pinterest : B-logFé
TikTok : blogfe
Instagram : b_logfe.official
บทความอื่นที่น่าสนใจ